พ่อแม่ควรแยก #เตียงนอน กับลูกมั้ย?
👉ควรแยกห้องนอนลูกตั้งแต่แรกเกิดหรือเปล่า ให้ลูกนอนคนเดียวดีไหม
👉แล้วควรแยกห้องนอนเมื่อไหร่ ????
👉ข้อดี/เสียของการ แยกเตียงนอนกับลูก แยกห้องนอนกับลูก
💖คำถามนี้ ตอนเป็น หมอตอบง่ายมาก คือ นอนคนละเตียงกับลูกตอนเค้าเป็นทารก และ แยกห้องนอนเมื่อลูกพร้อม (เริ่มโตพอเข้าใจภาษา)
😂แต่พอมาชีวิตจริง ของมนุษย์แม่ ….. คือ ลูกอ้อนค่ะ สีหน้าเค้าเวลาได้นอนบนอกเรา หรือ ใกล้ๆเรา เค้าดู หลับละมุนมากกว่า
(เกือบจะไม่ได้ใช้เตียงนอนที่ซื้อมา)
ยอมรับว่าวันแรก ที่เค้าเพิ่งคลอด เรา นอนกอดเค้าบน อกแล้ว หลับไปพร้อมกัน
#ซึ่งไม่ควรทำ !!! แต่ ด้วยฮอร์โมนแห่งความรักจากแม่มั้ง เลยพัง ทฤษฎี ไป 1 วัน
พอวันที่สอง เราเริ่มบอกเค้าว่า คืนนี้ หนูต้องนอนบนเตียงนะคะ เพื่อความปลอดภัยของลูก
และเตรียม อุปกรณ์ตัวช่วยลูกเล็กน้อย เช่น
ผ้าห่อตัวแบบให้เค้ารู้สึกว่ามีคนกอดตลอด ที่นอนที่มีหมอนข้างเย็บแน่น(ขยับไม่ได้)ล็อคตัวลูกให้อยู่ตรงกลาง เหมือนมีคนกอดอีกชั้น และ เสื้อแม่ ให้ลูกรู้สึกว่ามีแม่อยู่ใกล้ๆ
หมอเลือกซื้อเตียงแบบ ที่สามารถเปิดข้างๆ และเชื่อมหาเตียงผู้ใหญ่ได้ จะได้มองเห็นกันและกัน
ขั้นตอนการฝึกนอนบนเตียงตัวเอง ของลูก คือ
ตอนที่เราตื่นดี เราจะเอาลูกมากอดบนอก หลังจากเค้ากินนมอิ่ม ประมาณ 30 นาที (เหมือนจับเรอ ระบายแก๊ส) เน้นให้ ศีรษะ สูงกว่า อก หลังจาก ลูกหลับสนิท ก็เอาลูกวางบนเตียงลูก แบบนุ่มนวล ซึ่ง บางทีก็ตื่นบ้างไม่ตื่นบ้าง ค่อยๆ ฝึกกันไป
สิ่งที่หมอเตรียม ตั้งแต่ ก่อนคลอด คือ เตียงนอนเด็ก (เตรียมพร้อม เหมือนกับ car seat ) เนื่อง จาก การนอกแยกเตียงกับเรา ถือ เป็น #เรื่องความปลอดภัย อย่างนึง และเป็นสิ่งที่เราควรฝึกลูก
🥲เพราะการให้เด็กทารกนอนบนเตียงเดียวผู้ใหญ่อาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงขึ้นกับทารกได้ เช่น การขาดอากาศหายใจ โรคไหลตายในทารก หรือ SIDS (Sudden Infants Death Syndrome)
การศึกษาวิจัยหลายชิ้นพบว่า การให้ทารกนอนเตียงเดียวกับพ่อแม่ ถือเป็นสาเหตุหลักในการเสียชีวิตของเด็กทารก โดยเฉพาะทารกแรกเกิดถึง 3 เดือน
ทารกแรกเกิด 3 เดือนแรก นอนหลับได้ไม่นาน ต้องทานนมแม่บ่อย ๆ การที่ลูกได้นอนห้องเดียวกับคุณแม่จะสะดวกกว่า
หากลูกนอน#ห้องเดียวกับพ่อแม่ แต่ #คนละเตียง มีข้อดีคือจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะหลับไม่ตื่นในทารก (Sudden infant death syndrome หรือ SIDS) ได้
สมาคมกุมารแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกาแนะนำว่า👍ควรให้ลูกนอนใน #ห้องเดียวกับคุณพ่อคุณแม่ โดย ‘แยกพื้นที่ผิวการนอน’
จนถึงอายุ 1 ปีหรืออย่างน้อยอายุ 6 เดือน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิด SIDS
👍ควรให้เด็กนอนหงาย บนที่นอนซึ่งไม่นุ่มเกินไป
👍หากจำเป็นต้องให้ลูกนอนบนเตียงเดียวกับคุณพ่อคุณแม่ คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่สูบบุหรี่ ไม่ใช้ยานอนหลับหรือดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ควรมีหมอนหรือผ้าห่มรอบตัวเด็กและไม่ควรให้เด็กนอนอยู่บนที่นอนที่นุ่มมากจนเกินไป
👍ขณะที่คุณแม่ให้นมก็ไม่ควรจะนอนหลับเพราะจะเพิ่มความเสี่ยงของการกดทับทางเดินหายใจลูกและเกิดภาวะ SIDS ได้
🌸บางบ้านอาจจะนอนเตียงเดียวกับทารก อาจจะจากหลายสาเหตุ เช่น
* สะดวกเวลาให้นมลูกในตอนกลางคืน
* ช่วยให้คุณแม่และลูกน้อยหลับและตื่นพร้อมๆ กัน จึงดูแลลูกได้สะดวกขึ้น
* ช่วยให้เด็กนอนหลับได้ง่ายขึ้นและนานขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2-3 เดือนแรก
* ทำให้คุณพ่อคุณแม่ได้ใกล้ชิดกับลูกน้อยและอยู่พร้อมหน้าครอบครัว หลังจากที่ต้องแยกจากกันในเวลากลางวัน
💖ถ้าบ้านไหน นอนเตียงเดียวกับลูก
วันนี้ หมอมี #เทคนิคให้ลูกนอนร่วมเตียงอย่างปลอดภัย กับลูก มาฝาก
#เพื่อลดโอกาสเกิดอันตราย
* สำหรับเด็กทารกอายุ 0-12 เดือน ควรให้ลูกนอนแยกในเปลหรือเตียงทารกที่วางอยู่ข้างๆ เตียงของคุณพ่อคุณแม่ หรือจะใช้เป็นเตียงนอนเด็กแบบ side-car crib ที่ออกแบบมาให้วางชิดกับเตียงนอนคุณพ่อคุณแม่ก็ได้
* พยายามให้ลูกนอนหงาย ห้ามให้นอนตะแคงหรือนอนคว่ำเด็ดขาด
* ต้องแน่ใจว่าไม่มีอะไรทับหน้าลูกระหว่างนอนหลับ
* ทารกนอนเตียงเดียวกับพ่อแม่ได้ก็ต่อเมื่อฟูกหรือที่นอนแน่นพอ ไม่ยวบหรือยุบง่ายๆ และห้ามใช้เตียงน้ำเด็ดขาด
* ใช้ผ้าห่มน้ำหนักเบา แทนผ้านวมผืนหนาหนัก หรือให้ลูกนอนในถุงนอนสำหรับเด็กก็ได้
* ควรให้ทารกนอนข้างคุณพ่อคุณแม่คนใดคนหนึ่ง อย่าให้ลูกนอนตรงกลาง เพื่อลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุคุณพ่อหรือคุณแม่พลิกตัวมาทับลูก หรือลูกโดนผ้าห่มทับ
* อย่าให้ลูกนอนในตำแหน่งที่เสี่ยงตกเตียง และไม่ควรให้นอนชิดผนังหรือมีหมอนกั้น เพราะเด็กอาจโดนทับหรืออึดอัดจนหายใจไม่ออก ทางที่ดีควรใช้เตียงนอนขนาดใหญ่ที่กว้างพอจะให้ลูกนอนข้างๆ ได้แบบไม่ชิดขอบเตียงเกินไป
* ไม่ปล่อยให้เด็กคนอื่นหรือสัตว์เลี้ยงนอนร่วมเตียงด้วย รวมถึงห้ามให้สัตว์เลี้ยงกระโดดขึ้นเตียงตอนมีทารกอยู่บนเตียง
* ห้ามสูบบุหรี่ในห้องนอนโดยเด็ดขาด
❌❌❌ งดให้ลูกน้อยนอนร่วมเตียง กรณี
* คุณพ่อหรือคุณแม่สูบบุหรี่ แม้จะไม่ใช่ในห้องนอนก็ตาม
* คุณพ่อหรือคุณแม่ดื่มเหล้าหรือใช้ยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาที่ทำให้ง่วงซึม
* เด็กมีอายุต่ำกว่า 3 เดือน รวมถึงเด็กคลอดก่อนกำหนด หรือมีน้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ (น้อยกว่า 2,500 กรัม)
* คุณรู้สึกเหนื่อยล้ามาก
* ลูกมีไข้ หรือมีสัญญาณความเจ็บป่วย
💖ข้อดีของการนอนห้องเดียวกับลูก ดีกว่าให้ลูกนอนคนเดียวอย่างไร
(หมายถึงคนละเตียงนะคะ )
* ลูกนอนหลับได้ดีและนอนหลับสนิท เพราะลูกรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย สัมผัสได้ถึงความรักของพ่อแม่ การนอนกับพ่อแม่ทำให้ลูกอารมณ์ดี เพราะถูกเติมเต็มความรักจากความใกล้ชิด นอกจากนี้ เด็กที่นอนเตียงเดียวกับพ่อแม่จะไม่เป็นโรควิตกกังวล
* เป็นการสร้างความสัมพันธ์ในเชิงบวกให้กับลูกตั้งแต่ยังเป็นเด็ก
* การนอนกับพ่อแม่และพี่น้องนั้น จะช่วยให้เด็กมีใจโอบอ้อมอารี ใจกว้าง รักครอบครัว โดยเด็กที่ได้นอนกับพ่อแม่ตั้งแต่เล็ก ๆ
* เด็กที่นอนกับพ่อแม่นั้นจะเป็นเด็กที่มองโลกในแง่ดีและมีความมั่นใจในตัวเองสูง ไม่ขี้กังวล หรือทนทุกข์กับการกลัวความผิดพลาด มีความประพฤติที่ดีในโรงเรียน
* อันตรายต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับลูกนั้นลดน้อยลง เพราะพ่อแม่สามารถดูแลได้อย่างใกล้ชิด
😅ข้อเสียของการนอนห้องเดียวกับลูก (หมายถึงห้องนอนนะคะ ไม่ใช่เตียงนอน)
* วันหนึ่งที่พ่อแม่มีความจำเป็นจะต้องนำลูกไปฝากกับญาติหรือพี่เลี้ยง ลูกก็จะนอนหลับได้ยากกว่าเดิม และอาจมีความคิดน้อยใจ คิดว่าพ่อแม่ทิ้ง
* การแยกห้องนอนอยู่ที่ความพร้อมของตัวเด็กเอง แต่ถ้าแยกห้องนอนได้เร็ว ลูกก็จะฝึกนอนคนเดียวได้เร็ว ถ้าแยกห้องนอนช้า ลูกก็จะงอแง เมื่อจำเป็นต้องนอนคนเดียว
สำหรับช่วงอายุที่เหมาะแก่การแยกห้องนอนนั้น อาจเป็น 3 ขวบ หรือ 4 ขวบ แล้วแต่ความพร้อมของเด็ก แต่อย่าลืมว่า ยิ่งแยกห้องนอนกับลูกช้า ก็ยิ่งทำให้ลูกนอนคนเดียวได้ยากขึ้นนะคะแม่
ส่วนลูกของหมอตอนนี้ คือ นอนคนละเตียง แต่อยู่ในห้องนอนเดียวกัน เพื่อความปลอดภัยของลูก และ สายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่ลูกจ้า
❤️มะเหมี่ยวเอง
หมอเด็ก / แม่น้องทับทิม