พ่อแม่มือใหม่ต้องรู้
1.ห้ามทำร้ายตนเอง
2.ห้ามทำร้ายคนอื่น
3.ห้ามทำลายข้าวของ
นอกจากใช้กับลูกแล้ว ก็ใช้กับตัวเองด้วยก็ดีนะคะ การทำร้าย คือ การทำร้ายทั้งกาย วาจา และใจ ค่ะ #โลกสวยขึ้นมาทันทีเลย
ห้ามทำร้ายตนเอง
-เด็กเล็กกว่า 1 ปี ไม่ทำร้ายตนเองอยู่แล้ว
-เด็ก 1-2 ปี สมองอาจจะยังพัฒนาไม่เต็มที่ จะมีสมองส่วนอารมณ์ทำงานเด่นกว่าสมองเหตุผลอยู่แล้ว ยิ่งถ้ามีอารมณ์ไม่พอใจ โมโห และมีพัฒนาการทางภาษาที่ล่าช้า มักจะ แสดงออกมาด้วยการทำร้ายตัวเอง เช่น เอาหัวโขกกำแพง ตบหน้าตัวเอง …..
ถ้าบังเอิญ เกิดเหตุ ลูกกำล่งจะตีตนเอง แม่รีบจับมือแล้วพูดว่า “ห้ามตีตัวเอง” พร้อมกับกอดลูก แสดงความรักความเข้าใจ ลูกสงบก็อธิบายให้ลูกฟังว่าลูกควรจะทำยังไงค่ะ ….และ อาจจะใช้วิธีการเบี่ยงเบนความสนใจ
กับเด็กวัยนี้ เช่น ไปชวนทำอะไร ที่ลูกน่าจะชอบมากกว่า
-เด็ก 2-3 ปี ถ้ามีความเข้าใจทางภาษาที่ดีแล้ว และ เราตั้งกติกาในบ้านอย่างดี มักจะไม่เกิดปัญหาทำร้ายตนเองขึ้นกับลูก (หมายถึง ปูกติกานี้ มาตั้งแต่เด็กเล็กๆ )
-เด็กโตและผู้ใหญ่ บางคน มีปัญหา #ทำร้ายตนเอง แบบนี้ ต้องพิจารณาจากหลายสาเหตุ อาจจะไม่ใช่เพราะสมองไม่พัฒนา แต่อาจจะเกิดจากความเครียดบางอย่าง หาทางออกไม่ได้ และอาจจะเกิดจากสารเคมีในสมองหลั่งผิดปกติ หรือ ที่คุ้นหูกันคือ โรคซึมเศร้า (Depression)
ห้ามทำร้ายคนอื่น
-เด็กเล็ก มักจะชอบเล่นกับพ่อแม่ บางคนเอามือตบหน้าพ่อแม่ หรือเอามือดึงผมพ่อแม่ พ่อแม่ตอบสนองด้วยการยิ้มขำ เด็กเค้าจะยิ่งทำนะคะ เราควรตอบสนองด้วยภาษาท่าทางว่าเราเจ็บ เด็กจะได้เข้าใจ และ ไม่ทำแบบนั้น
-เด็ก 1-2 ปี #วัยแห่งอารมณ์ เค้าอาจจะไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ ไม่รู้ว่าอะไรควรทำตอนไหน ดังนั้น เวลาไม่พอใจ โมโห อาจจะแสดงท่าทางที่ทำร้ายคนอื่นได้ วิธีป้องกันไม่ให้ลูก ทำร้ายคนอื่นสำหรับวัยนี้ คือ การทำตัวเป็น #ตัวอย่างที่ดี เพราะเด็กวัยนี่เค้ามักเลียนแบบสิ่งที่เค้าเห็น ถ้าเค้าเห็นว่า ตอนผู้ใหญ่ โมโหไม่พอใจ แล้วตีฝ่ายตรงข้าม ลูกก็จะทำตามนะคะ
ถ้าเกิดเหตุ ลูกกำลังจะตี หรือทำร้ายคนอื่น คุณแม่จับมือทันให้รีบจับมือ แล้วพูดด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า “ห้ามตีค่ะ” ถ้าลูกกรี๊ดหนักกว่าเดิม คุณแม่ก็แค่จับมือไว้แล้วพูดซ้ำแค่ว่า “ห้ามตีค่ะ” พูดซ้ำ ย้ำๆ วนๆ
‘Kind but Firm ‘ต้องเอามาใช้ตอนนี้ !!
-เด็ก 2-3 ปี พัฒนาการทางภาษาดีมากขึ้น แต่ก็จะยังไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้ สิ่งที่ควรช่วยเหลือลูก คือ #สอบถามความรู้สึกว่าลูกรู้สึกเช่นไร และ พ่อแม่อาจหาวิธีทางที่จะช่วยระบายความโกรธลูกได้ เป็น กิจกรรมอื่นๆ เช่น ระบายสี เล่นทราย
-เด็กโต และวัยรุ่น บางคนมีปัญหา พฤติกรรมก้าวร้าว สมาธิสั้นหุนหันพลันแล่น อาจจะมีการทำร้ายคนอื่นได้ แบบนี้ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อแก้ปัญหานะคะ
ห้ามทำลายข้าวของ
-เด็กเล็ก มักชอบโยนของลงพื้นเพราะ โยนแล้วเสียงดังสนุกดี …อันนี้ไม่เกี่ยว
-เด็ก 1-2 ปี จะทำแบบที่เค้าเห็น พ่อแม่คือแบบอย่าง เด็กวัยนี้บางที เล่นของเล่นยังไม่เป็นอาจจะโยนแล้วมีเสียงก็สนุกแล้ว …
ถ้าเจอ กำลังโยนของเล่น คุณแม่ก็บอกให้วางลง และทำท่าวางให้ดู แล้วบอกว่าห้ามโยนอีกนะคะ , ลูกกำลังฉีกหนังสือ คุณแม่ก็เข้ามานั่งข้างๆ ทำท่าอ่านหนังสือให้ดู และบอกว่าห้ามฉีกหนังสืออีกนะคะ (น้ำเสียงคุณแม่ต้องจริงจัง เด็กๆเรียนรู้น้ำเสียงของแม่ว่า คือ เสียงไหนแม่ชอบ และเสียงไหนแม่ดุ ห้ามทำไปขำไป เพราะลูกจะเข้าใจว่าแม่ชอบ แล้วลูกอาจจะทำพฤติกรรมนั้นอีก )
-เด็ก 2-3 ปี ถ้าเค้าทำลายข้าวของ เช่น ขว้างของเล่นจนพัง เรามีหน้าที่บอกลูกว่า หนูทำมันพังแล้ว ไม่มีให้เล่นแล้ว ….และก็ไม่มีจริงๆ แบบนี้เด็กจะจำได้ และจะไม่ทำอีก …วัยนี้ ไม่ต้องการการบ่น การดุด่า การพร่ำสอน เพราะ สมองเค้ายังไม่พัฒนาเต็มที่ …พูดเยอะยังฟังไม่เข้าใจทั้งหมด …ทำให้ดูแบบข้างต้นที่กล่าวไปนะคะ
-เด็กโตและวัยรุ่น การทำลายข้าวของ เป็น สิ่งที่มักพบได้บ่อย แต่ เป็นสิ่งที่ยอมให้เกิดไม่ได้ เนื่องจาก ตอนแรกอาจจะทำลายแค่ข้าวของหลังจากนั้น ถ้าพฤติกรรมหรืออารมณ์ได้รับการระบายออกได้ ไม่ถูกทาง เด็กอาจจะเริ่มทำร้ายคนอื่นหรือตนเองตามมาได้
สิ่งที่ ควรค่อยๆ สอนลูก ตั้งแต่ เล็กๆ เลย คือ #รู้จักอารมณ์ของตนเอง (ดูพัฒนาการตามวัยลูกด้วยนะคะ เด็กเล็กอาจจะยังทำไม่ได้) คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็น ผู้รับฟังที่ดี และสะท้อนอารมณ์ของลูก เสมอๆ เช่น น้องเอทำหน้าบึ้ง พ่อแม่ก็รับฟังปัญหา และ สะท้อนอารมณ์ของลูก ว่า ลูกคนโมโหมากเลยใช่มั้ยจ้ะ เรามาระบายสีกันดีมั้ย…
ทุกบ้าน ควรมี #พื้นที่ส่วนตัวเพื่อระบายอารมณ์
เด็กเล็ก อาจจะต้องการ กะบะทราย หรือห้องเล่น
เด็กโต อาจจะอยากวิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ
วัยรุ่น อาจจะต้องการ นั่งชิวคนเดียว
ผู้ใหญ่ อาจจะต้องการแค่เหล้าสักแก้ว555
อย่าเพิ่งสอน ตอนอารมณ์ไม่พร้อม เพราะ #โมโหแล้วหูอื้อฟังไม่รู้เรื่อง …
#สอนตอนที่อารมณ์พร้อมด้วยกันทั้งสองฝ่าย จบจ้า
#ด้วยรักจากหมอมะเหมี่ยว
แพทย์หญิงสุทธิชา อู่เงิน
กุมารแพทย์