หลายคนคงเคยคิดว่า “เด็ก” เลี้ยงยังไงก็ได้ ให้กินข้าวเยอะๆ กินขนมบ้าง ปล่อยให้เล่นตามประสาเด็ก ส่งเข้าโรงเรียนให้ครูสอน ก็จบ ! ที่ผ่านมาหมอก็เป็นคนนึงที่คิดแบบนั้น แม้กระทั่งตอนเริ่มเรียนเฉพาะทางกุมารแพทย์ แต่เวลาทำให้หมอรู้ว่า เด็กเค้าต้องการอะไรมากกว่านั้น เนื่องด้วยจากสภาพแวดล้อม สังคม และยุคเทคโนโลยีที่หมุนไวมากขนาดนี้ การปล่อยให้เด็กเติบโตตามยถากรรม ตามที่คิดว่าใช่ มันอาจจะไม่ใช่
วันนี้ สังคมคงรับรู้ เรื่องเด็กสมาธิสั้น และออทิสติก กันพอสมควร แต่สิ่งที่ ควรรับรู้มากกว่านั้น คือ เด็กที่มีภาวะสมาธิสั้นเทียมและออทิสติกเทียม ขอกล่าวถึง เรื่องตัวโรคสมาธิสั้น คร่าวๆก่อน นะคะ
โรคสมาธิสั้น พบเด็กวัยเรียนป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นถึงร้อยละ 5 เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น จะมีปริมาณสาร dopamine , noradrenaline ในสมองน้อยกว่าเด็กปกติ ทำให้เด็กไม่สามารถควบคุมตนเองได้ อีกสาเหตุเกิดจากกรรมพันธุ์ ร้อยละ 30 – 40 ไม่ได้เกิดจากการเลี้ยงดูของผู้ปกครอง แต่การที่เลี้ยงดูเด็กกลุ่มนี้ไม่ถูกต้องอาจจะทำให้อาการสมาธิสั้นรุนแรงขึ้น เด็กที่ป่วยด้วยโรคสมาธิสั้น จะมีอาการ คือ ขาดสมาธิ ซน อยู่ไม่นิ่ง และอาการหุนหันพลันแล่น วู่วาม การรักษาโรคสมาธิสั้น ได้แก่ การรักษาด้วยยา การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กและคนในครอบครัว
โรคออทิสติก จากข้อมูลทางระบาดวิทยาในระยะหลัง พบว่ามีความชุกเพิ่มมากขึ้น พบสูงสุดถึง 1 คนต่อประชากร 250 คน เกิดจากพัฒนาการที่ผิดปกติของสมองที่มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรม ไม่ได้เกิดจากการเลี้ยงดูของผู้ปกครอง เป็นโรคที่รู้จักมาเป็นเวลา 60 ปีแล้ว แต่ยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดได้
ออทิสติกจะมีความบกพร่องด้านการพูดสื่อสาร และปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ร่วมกับมีพฤติกรรมและความสนใจแบบแคบ จำกัด และเป็นแบบแผนซ้ำๆ โดยความบกพร่องเหล่านี้จะเริ่มแสดงให้เห็นในวัยเด็กเล็ก และมีอาการต่อเนื่องไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ออทิสติกเป็นโรคที่ยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถช่วยเหลือให้ดีขึ้นได้ โดยเฉพาะหากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมตั้งแต่เริ่มแรก การรักษาโรคออทิสติก ได้แก่ การกระตุ้นพัฒนาการ เป็นการรักษาที่มีความสำคัญที่สุด, การปรับพฤติกรรม, ยา ซึ่งช่วยในการควบคุมสารเคมีในสมองให้มีความสมดุลเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาแทรกซ้อน
ที่กล่าวถึงข้างต้น คือ โรคสมาธิสั้น และออทิสติก ที่สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของสมองและปัจจัยทางพันธุกรรม โดยไม่ได้เกิดจากการเลี้ยงดูของผู้ปกครอง แต่ ต่อจากนี้ไป หมอขอพูดถึง “สมาธิสั้นเทียม และออทิสติกเทียม” ซึ่ง พบมากกว่า “โรคสมาธิสั้นและโรคออทิสติก”
ออทิสติกเทียม คือ กลุ่มอาการของเด็กเล็ก ที่มีปัญหาพัฒนาการล่าช้า ทั้งทางด้านภาษาและสังคม เช่น เด็ก 1ขวบ ยังไม่สามารถพูดหนึ่งคำที่มีความหมายได้ และหมกมุ่นอยู่กับกิจกรรมของตัวเอง ไม่มองหน้า ไม่ทำตามคำสั่ง ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ เมื่อเทียบกับเด็กคนอื่นในวัยเดียวกันนั้นก็จะเห็นความผิดปกติชัดเจน และเมื่อลองสอบถามประวัติการเลี้ยงดู มักจะพบว่าการเลี้ยงดูมีปัญหา ไม่ได้รับการกระตุ้นเท่าที่ควร เช่น พ่อแม่ไม่ค่อยมีเวลาพูดกับลูก ปล่อยให้พี่เลี้ยงดูแลหรือผู้สูงอายุ บางบ้านปล่อยให้เด็กเล่นแต่เกม/แท็บเลต/สมาร์ทโฟน ทำให้เด็กไม่ได้รับการกระตุ้นเรื่องการสื่อสาร และเด็กบางคนได้แต่อยู่ในบ้านไม่มีโอกาสได้ออกนอกบ้าน ทำให้เด็กไม่รู้จักการอยู่ร่วมกันในสังคมกับเพื่อนวัยเดียวกัน ที่กล่าวมาทั้งหมด คือ สาเหตุที่ทำให้เด็กมีปํญหาพัฒนาการล่าช้า ทั้งทางด้านภาษาและสังคม แต่ไม่ได้มีปัญหาพฤติกรรม คือ พฤติกรรมและความสนใจแบบแคบ จำกัด และเป็นแบบแผนซ้ำๆ ดังกล่าวมา แบบนี้เรียกว่า ภาวะ “ออทิสติกเทียม”
ปัจจุบันพบปัญหาเด็กที่มีภาวะออทิสติกเทียมเพิ่มสูงขึ้น อาจเนื่องมาจากเทคโนโลยี มือถือ/แท็บเลต/คอมพิวเตอร์ ประกอบกับพ่อม่ต้องทำงานหนัก ไม่มีเวลาเลี้ยงลูกเอง ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นหน้าที่ของพี่เลี้ยง โดยเฉพาะพี่เลี้ยงชาวต่างด้าวที่ไม่ได้เล่นหรือพูดคุยกับเด็กเลย ทำให้เด็กๆขาดการกระตุ้นทักษะทางด้านภาษาและสังคม
วิธีป้องกันไม่ให้ลูกเป็น “ออทิสติกเทียม” คือการมีเวลาให้กับลูก
หมอทราบค่ะว่าเงินสำคัญ แต่ลูกสำคัญที่สุด เมื่อเวลาผ่านไปแล้ว พัฒนาการของลูกจะใช้เงินซื้อกลับมาไม่ได้ การนั่งพูดคุยกับลูก เล่านิทานให้ลูกฟัง ทำงานบ้านร่วมกัน แค่นี้ก็ถือเป็นการกระตุ้นทักษะทางภาษาและสังคมแล้ว
“ออทิสติกเทียม” หายได้ ถ้าเรารู้เท่าทันและแก้ไขได้แต่เนิ่นๆที่มีอาการ เนื่องจาก สมองเด็กไม่ได้ล่าช้า แต่การเลี้ยงดูทำให้เด็กล่าช้า …………………………..
สมาธิสั้นเทียม
โรคสมาธิสั้นเทียม (Pseudo-ADHD) อาการเหมือนกับสมาธิสั้นแท้ทุกประการต่างกันที่ “สาเหตุ” เพราะว่าโรคสมาธิสั้นเทียมมีสาเหตุจากพัฒนาการและสิ่งแวดล้อม “ไม่ใช่จากสมอง” ซึ่งสาเหตุที่สำคัญที่สุดคือสาเหตุทาง “การเลี้ยงดู” และยิ่งในเด็กที่ทำทุกอย่างด้วยความรีบเร่งอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะเด็กที่โตมากับสภาพแวดล้อมในเมือง มีการแข่งขันกับเวลา เมื่อเด็กต้องทำงานแข่งกับเวลาตลอดโดยที่พัฒนาการของเด็กยังไม่พร้อมทำให้ออกมาเป็นอาการทำงานผิดบ่อย ๆ ขี้ลืม เหม่อลอย บ่อยครั้งที่เด็กพบกับความผิดหวังที่ทำไม่ได้ทันเวลาก็จะเป็นปัญหาทางอารมณ์ เช่น หงุดหงิดง่าย เบื่อหน่าย กังวลตามมาด้วย
นอกจากการเลี้ยงดูแล้ว สาเหตุอีกอันคือ “เทคโนโลยี” คือโทรศัพท์มือถือ แท๊บเล็ต และอินเตอร์เน็ต ทุกวันนี้เทคโนโลยีทำให้เราไม่รู้จักรอคอย ทำให้เราไม่รู้จักวางแผน และทำให้เรากลายเป็น “สมาธิสั้นเทียม” เพราะอุปกรณ์เหล่านี้มีส่วนทำให้เด็กถูกเร้าจากภาพบนหน้าจอที่เปลี่ยนเร็วและบ่อย มีแสง สี เสียงที่กระตุ้นประสาทสัมผัสตลอดเวลา เมื่อจำเป็นต้องควบคุมตัวเองให้จดจ่อในสิ่งเร้าที่ไม่มีแสง สี เสียงมากระตุ้นประสาทสัมผัสมากพอ เด็กก็จะไม่ชิน และไม่มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งนั้น คล้ายกับคนสมาธิสั้น
หากผู้ปกครองปรับเปลี่ยนแนวทางการเลี้ยงดูแล้ว เด็กๆ ก็จะควบคุมสมาธิของตัวเองและหายขาดจากภาวะสมาธิสั้นเทียมนี้ได้ โดยมีแนวทางดังนี้
วิธีการเลี้ยงดูลูก ไม่ให้ เป็น “สมาธิสั้นเทียม” หรือ ถ้าเป็นโรคสมาธิสั้นจริง ก็เอาอยู่
- เราไม่ควรมองแต่ข้อผิดพลาดของเด็ก ให้มองเด็กตามพัฒนาการตามวัย
- เสริมแรงจูงใจเมื่อเขาทำได้ และช่วยเหลือเมื่อเขาทำไม่ได้ แต่ไม่ใช่ทุกครั้ง
- เน้นการสอนดีกว่าลงมือทำให้ ต้องให้เขารู้จักลองผิดถูกด้วยตนเองบ้าง
- ฝึกวินัยเชิงบวก ฝึกการรอคอย โดยผู้ปกครองควรเป็นตัวอย่างที่ดีก่อน
- ไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีใช้สื่อและเทคโนโลยี
- ใส่ใจและสังเกตพฤติกรรมของลูก เด็กที่มีภาวะความเครียด วิตกกังวล มีปัญหาด้านพัฒนาการ หรือมีโรคอื่นแอบแฝงอยู่ ก็อาจแสดงออกด้วยอาการคล้ายสมาธิสั้นด้วย เพราะการแสดงออกของอาการอาจไม่ได้ตรงไปตรงมาอย่างผู้ใหญ่ ถ้าพบความผิดปกติก็ควรเข้ารับการประเมินจากจิตแพทย์เด็ก หรือกุมารแพทย์ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ หรือแก้ไขแบบไม่ตรงกับสาเหตุ เพราะอาจมีผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเขา ซึ่งส่งผลต่ออนาคตของเด็กได้เลย